วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2553

หนังตลกที่ตลกไม่ออกของ ชาลี แชปลิน Monsieur Verdoux (1947)

ปี 1947 ชาลี แชปลิน ได้สร้าง กำกับ และแสดงภาพยนตร์ขาวดำออกมาเรื่องหนึ่ง ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้รับความนิยม อีกทั้งยังถูกต่อต้านจากหลายฝ่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกากล่าวหาว่าแชปลินเป็นพวกฝักใฝ่คอมมิวนิสต์

ในรอบพรีเมียร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้สื่อจ้องแต่จะคอยรุมถามเรื่อง.......ทำไมเขาจึงไม่ยอมรับสัญชาติอเมริกัน หรือความคิดเกี่ยวกับการเมืองของแชปลิน

อีกทั้งก่อนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้ฉาย แชปลินโดนแกล้งจากฝ่ายเซนเซอร์ของรัฐบาลอเมริกา และจากความผิดหวังกับประเทศสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ เป็น 1 ในหลายเหตุผลที่ทำให้เค้าตัดสินใจออกจากประเทศสหรัฐอเมริกาไปในปี 1952

 
ชาลี แชปลินค่ะ หน้าไม่ค่อยคุ้นเนอะ

ปัจจุบัน ภาพยนตร์เรื่องนี้ ถูกจัดอยู่ในคอลเลคชั่นงานชิ้นเด่นที่คอหนังเก่าควรมีไว้สะสม และแชปลินเองได้กล่าวว่า เป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดที่เค้าได้สร้างมา นั่นคือ ภาพยนตร์ เรื่อง Monsier Verdoux

บทภาพยนตร์อ้างอิงมาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ในไตเติ้ลของภาพยนตร์แจ้งว่า เจ้าของไอเดียคือ ออสัน เวลล์ ผู้กำกับชื่อดัง

Monsieur Verdoux (1947)


Monsieur Verdoux เป็น Black Comedy หรือ Killer Comedy เรื่องตลกเสียดสี ที่ไม่รู้จะหัวเราะ หรือร้องไห้

แชปปลิน รับบทเป็นชายวัยกลางคน อารมณ์เย็น เพลิดเพลิน ทั้งๆที่ดูงานยุ่งตลอดเวลา
เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นที่ป้ายหลุมศพของเมอซิเออร์ เวอดูซ์ อองรีคนข้างล่างนี้ค่ะ


และเสียงเล่าเรื่องของผู้เป็นเจ้าของหลุมศพก็พาเราย้อนอดีตกลับไปหลายปี


ปี 1930 ณ ประเทศฝรั่งเศส เวอดูซ์ ชายชาวฝรั่งเศสที่ซื่อสัตย์ในอาชีพเสมียนธนาคารมาตลอดกว่า 30 ปี โดนไล่ออกจากงาน เนื่องจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นตกต่ำ
เวอดูซ์จึงหันมาทำธุรกิจส่วนตัวเล็กๆ บางอย่าง เพื่อหาเลี้ยงปากท้องตัวเอง ลูกชาย และภรรยาที่พิการ

 
เผาและฝัง......ในสวนกุหลาบ

ด้วยอาชีพของ เวอดูซ์ ทำให้เค้าต้องเดินทางไปมาระหว่างเมืองนี้ เมืองนั้น และเมืองโน้น นานๆครั้งจึงจะได้กลับมาเยี่ยมครอบครัว และก็ต้องจากไปอีกเมืองหนึ่งอย่างรวดเร็ว


บางครั้งเวอดูซ์เป็นกัปตันเรือ บางครั้งเป็นช่างตัดเสื้อ เป็นเจ้าของสวนกุหลาบ หรือเป็นวิศวกรสร้างสะพาน
ในเมืองที่เค้าไป เกิดเหตุหญิงม่ายฐานะร่ำรวยหลายคนแต่งงานใหม่ และไม่นานก็หายตัวไป

 
เวอดูซ์ในบทของกัปตันเรือกับแม่ม่ายที่ร่ำรวย

...........ค่ะ มองซิเออร์ เวอดูซ์ อองรี มีอาชีพเป็นนักปอกลอกหญิงม่ายวัยกลางคนที่มีฐานะ และหลังจากที่หมดประโยชน์เค้าก็ฆ่าพวกหล่อนทิ้ง ศพแล้ว ศพเล่า ศพแล้ว ศพเล่า

  
คนต่อไป

สงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุคที่ยุโรปตกต่ำ ประชาชนอดอยาก ตกงาน ทุกชีวิตต่างต้องดิ้นรนเอาตัวรอด และนี่คือทางรอดของ มองซิเออร์ เวอดูซ์ ซึ่งเค้าเรียกมันว่า การทำธุรกิจ

นอกจากใช้จ่ายส่วนตัว และสำหรับครอบครัวแล้ว เวอดูซ์ นำรายได้เกือบทั้งหมดไปลงทุนในหุ้น

  
เหยื่อรายนี้ เราไม่มีโอกาสได้เห็นตัวเป็นๆค่ะ เห็นแต่หุ่น

แผนการของเวอดูซ์ดูเหมือนจะราบรื่น ถึงแม้จะมีติดขัดบ้าง (แม่ม่ายบางคนดวงแข็ง) แต่เค้าก็ผ่านมันไปได้ด้วยดี จนกระทั่ง เมื่อเศรษฐกิจยุโรปตกต่ำถึงขีดสุด  ธนาคารล้ม หุ้นและเงินที่เค้าฝากไว้กลายเป็นศูนย์ ......

   
จะเอาบ่วงผูกหินคล้องคอ และฆ่าเสียให้ตาย

เมื่อเงินที่สะสมกลายเป็นศูนย์... เมียและลูกทิ้งเค้าไป สิ่งที่เค้าทำมาทั้งหมดล้มเหลว เวอดูซ์จึงตัดสินใจเลิกอาชีพนี้
หลังจากนั้นเค้าใช้ชีวิตอย่างซอมซ่ออยู่หลายปี ในที่สุดก็ถูกจับ เวอดูซ์ยิ้มรับกับชะตากรรม เค้าได้รับคำตัดสินประหารจากการปล้น ฆ่า ด้วยกิโยติน

 
สุดท้ายก็ถูกจับได้

แชปลินสื่อกับผู้ชมผ่านภาพยนตร์ว่า เวอดูซ์ ตัวละครหลักเป็นคนรักครอบครัว รักสัตว์ และเป็นมังสวิรัติ เมื่อภาพฮิตเลอร์ปรากฎขึ้นในจอบางขณะ (ฮิตเลอร์ เป็นมังสวิรัติ รักสัตว์ และอ่อนโยนต่อเด็กและคนรักเหมือนกัน) อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบระหว่างฆาตรกรต่อเนื่องในภาพยนตร์คนนี้ กับปีศาจเลือดเย็นในประวัติศาสตร์ และพาลให้นึกถึงผู้ที่พยายามลากจูงคนทั้งโลกเข้าสู่ภาวะสงครามในปัจจุบัน

สิ่งที่น่าสนใจที่แชปลินได้บอกกับเราในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ การฆ่าอย่างปกปิด และ ฆ่าอย่างเปิดเผย ซึ่งเค้ากล่าวว่า ทั้ง 2 อย่าง มันก็คือธุรกิจ 

รับชะตากรรม

คำพูดก่อนศาลจะตัดสินประหารชีวิตค่ะ

As for being a mass killer, does not the world encourage it? Is it not building weapons of destruction for the sole purpose of mass killing?  Has it not blown unsuspecting women and little children to pieces...? Huh.. As a mass killer, I am an amateur by comparison.

การเป็นฆาตรกรหลายศพนั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่โลกสนับสนุนหรือไร การสร้างอาวุธเพื่อทำลายไม่ใช่เพื่อการเข่นฆ่าหรอกหรือ มันไม่ได้ทำให้ผู้หญิงที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว และเด็กๆตัวเล็กๆร่างแหลกเหลวใช่ไหม...ในฐานะฆาตรกร เทียบแล้วผมเป็นเพียงมือสมัครเล่นด้วยซ้ำ !!!!

 
คุยกับบาทหลวงก่อนถูกประหาร

That's business. That's the history of many a big business. Wars, conflict....it's all business. One murder makes a villain, millions, a heroNumbers sanctify my good fellow.

นั่นคือธุรกิจ ประวัติศาสตร์ของธุรกิจขนาดใหญ่ๆ มากมาย สงคราม ความขัดแย้ง ล้วนแต่เป็นธุรกิจทั้งนั้น ฆ่าคนเพียงคนเดียวเป็นผู้ร้าย ฆ่าคนเป็นล้านกลับกลายเป็นวีรบุรุษ จำนวนต่างหากที่สำคัญ เพื่อนเอ๋ย....

 
ภาพเดินเข้าสู่แดนประหาร

นายเวอดูซ์ รับว่า การฆ่าของเค้าคือ ธุรกิจ แต่ผู้ฆ่าในสงครามแต่ละครั้ง ไม่เคยมีใครบอกเลยนะคะ ว่าเป็นธุรกิจ ทุกฝ่ายล้วนแต่อ้างความชอบธรรมต่างๆนานา
อะไรคือความชอบธรรม ที่จะให้คนๆหนึ่ง ฆ่าคนอีกคนหนึ่ง หรือประเทศหนึ่งเข้าทำสงครามในประเทศของคนอื่น
คงจะเป็นพลังงานอำนาจในการฆ่า รวมกับ พลังอำนาจในการสร้างความชอบธรรม ความถูกต้องให้แก่ตนเอง

เขียนไว้ตั้งแต่ วันที่ 3/05/2007

ไม่มีความคิดเห็น: